Solar cell หน้าปก
  • Tips & Tricks
  • /
  • Solar Cell คืออะไร ติดตั้งโซล่าเซลล์ขนาดเท่าไหร่ถึงจะช่วยประหยัดค่าไฟ
แชร์บทความ

Solar Cell คืออะไร ติดตั้งโซล่าเซลล์ขนาดเท่าไหร่ถึงจะช่วยประหยัดค่าไฟ

             เชื่อได้ว่าช่วงนี้หลาย ๆ บ้านคงเจอปัญหาค่าไฟขึ้นบานอย่างแน่นอน เพราะด้วยจากอากาศที่ร้อนระอุและค่าไฟที่เพิ่มขึ้น จึงทำให้หลาย ๆ บ้านเป็นกังวลใจเรื่องค่าไฟ จึงมองหาทางเลือกที่จะช่วยลดค่าไฟ อย่างการติดตั้ง Solar Cell วันนี้ HomeTricks เคล็ดไม่ลับเรื่องบ้าน ก็จะพาทุกคนมาทำความรู้จักกับ solar cell คืออะไร ติดตั้ง Solar Cell ขนาดเท่าไหร่ถึงจะคุ้มทุน มาแนะนำ ดังนี้

Solar Cell (โซล่าเซลล์) คืออะไร ?

Solar Cell (โซล่าเซลล์) หรือ เซลล์แสงอาทิตย์ คือ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ที่ทำจากสารกึ่งตัวนำชนิดพิเศษ ที่มีคุณสมบัติในการเปลี่ยนพลังงานแสงอาทิตย์ ให้เป็นพลังงานไฟฟ้า โดยกระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้จากโซล่าเซลล์นั้น จะเป็นไฟฟ้ากระแสตรง (Direct Current) ซึ่งเราสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ทันที รวมทั้งสามารถเก็บไว้ในแบตเตอรี่เพื่อใช้งานภายหลังได้อีกด้วย ทำให้โซล่าเซลล์เป็นอีกหนึ่งพลังงานทางเลือกที่ได้รับความนิยมอย่างมากในปัจจุบัน
พลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้จากแผงโซล่าเซลล์ จัดว่าเป็นแหล่งพลังงานสะอาดและไม่สร้างมลภาวะแก่สิ่งแวดล้อมและไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Co2) เหมือนกับแหล่งพลังงานอื่นๆ เช่น น้ำมัน, โรงไฟฟ้าที่มีกระบวนการผลิตจากก๊าซธรรมชาติ และถ่านหิน Solar Cell เป็นพลังงาน ที่ใช้แล้วไม่มีวันหมดไป

ชนิดของ Solar Cell

โซล่าเซลล์แบ่งเป็น 3 ประเภทหลัก ดังนี้

ชนิด Solar Cell

1. แผงโซล่าเซลล์ชนิด โมโนคริสตัลไลน์ (Mono Crystalline)

เป็นแผงโซล่าเซลล์ที่ทำมาจาก ผลึกซิลิคอนเชิงเดี่ยว (Mono- Silicon) บางครั้งเรียกว่า Single Crystalline มีลักษณะแต่ละเซลล์เป็นสี่เหลี่ยมตัดมุมทั้งสี่มุม และมีสีเข้ม ทำมาจากซิลิคอนที่มีความบริสุทธิ์สูง ที่กวนให้ผลึกเกาะกันที่แกนกลาง ทำให้เกิดแท่งทรงกระบอก จากนั้นนำมาตัดให้เป็นสี่เหลี่ยมและลบมุมทั้งสี่ออก ทำให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด และลดการใช้วัตถุดิบ Mono- Silicon ลง ก่อนที่จะนำมาตัดเป็นแผ่นอีกที
โดยแผงโซล่าเซลล์ชนิดนี้จะมีข้อดี คือ เป็นโซล่าเซลล์ที่มีประสิทธิภาพสูงที่สุดเมื่อเทียบกับโซล่าเซลล์ประเภทอื่น และมีอายุการใช้งานเฉลี่ยยาวนานกว่า 25 ปี ทั้งยังผลิตกระแสไฟฟ้าได้ดีที่สุดแม้อยู่ในภาวะที่แสงน้อยอีกด้วย

2. แผงโซล่าเซลล์ชนิด โพลีคริสตัลไลน์ (Polycrystalline Silicon Solar Cells)

เป็นแผงโซล่าเซลล์ที่ทำมาจากผลึกซิลิคอน เช่นเดียวกันกับแบบโมโนคริสตัลไลน์ แต่จะใช้จำนวนที่น้อยกว่า โดยกระบวนการผลิต จะนำเอาซิลิคอนเหลว มาเทใส่โมลด์ที่เป็นสี่เหลี่ยม ก่อนจะนำมาตัดเป็นแผ่นบางอีกที จึงทำให้แต่ละเซลล์เป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส และสีของแผงจะออกเป็นสีน้ำเงินไม่เข้มมาก โดยแผงโซล่าเซลล์ชนิดนี้จะมีข้อดี คือ มีประสิทธิภาพการทำงานในขณะที่อุณหภูมิสูงดีกว่าแบบโมโนคริสตัลไลน์ และมีราคาถูกกว่า

3. แผงโซล่าเซลล์ชนิด หรืออะมอร์ฟัสโซล่าเซลล์ (Amorphous Silicon Solar Cells)

เป็นแผงโซล่าเซลล์ที่มีลักษณะเป็นชั้นฟิล์มบาง ๆ ทำมาจากการนำสารที่แปลงพลังงานแสงเป็นพลังงานไฟฟ้า มาฉาบเป็นชั้นบางๆ ซ้อนกันหลายๆชั้น จึงเรียกโซล่าเซลล์ชนิดนี้ว่า ฟิล์มบาง (Thin Film) โดยแผงโซล่าเซลล์ชนิดนี้จะมีประสิทธิภาพเฉลี่ยอยู่ที่ 7-13 % ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดของวัสดุที่นำมาทำเป็นฟิล์มฉาบ
โดยข้อดีของแผงโซล่าเซลล์แบบฟิล์มบาง คือ มีราคาย่อมเยาว์ รวมถึงมีค่าซ่อมบำรุงหรือดูแลรักษาที่ถูก และแผงโซล่าเซลล์ชนิดนี้จะเหมาะกับคนที่มีพื้นที่ในบ้านมาก

Solar Cell (โซล่าเซลล์) ควรเลือกอย่างไร ?

สำหรับการเลือกแผงโซล่าเซลล์นั้นเราจะต้องคำนึงถึงการใช้งานว่ามีจุดประสงค์ที่จะนำไปใช้เพื่ออะไร ซึ่งในปัจจุบันนี้ก็มีการใช้แผงโซล่าเซลล์กันอย่างแพร่หลายไม่ใช่แค่ในครัวเรือนเท่านั้น แต่ยังมีทั้งภาคการเกษตรและอุตสาหกรรม หรือแม้แต่ออฟฟิศในเมืองก็มีให้เห็นเช่นกัน เนื่องจากปัญหาค่าไฟต่อหน่วยที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก จึงทำให้หลาย ๆ คนหันมาสนใจเลือกใช้พลังงานทางเลือกกัน

โดยในการเลือกโซล่าเซลล์นั้นก็มีปัจจัยในการเลือกไม่ใช่เพียงแค่ดูที่ราคาเท่านั้น แต่เราจำเป็นต้องดูถึงประสิทธิภาพการใช้งานรวมถึงพื้นที่ที่เรามีในการติดตั้งแผงด้วย ดังนั้นในการเลือกซื้อแผงโซล่าเซลล์ ก่อนที่จะติดตั้งควรต้องศึกษาข้อมูลของโซล่าเซลล์แต่ละชนิดเพื่อนำเอาไปเปรียบเทียบกันและเลือกใช้โซล่าเซลล์ที่เหมาะแก่การใช้งานมากที่สุด

ติดตั้ง Solar Cell ขนาดเท่าไหร่ถึงจะช่วยประหยัดค่าไฟและคุ้มทุน

Solar cellคุ้มทุน

  • การคำนวณค่าไฟเราจะคำนวณจากหน่วยไฟฟ้าเป็น ‘กิโลวัตต์’ ซึ่งขนาดแผงโซลาร์เซลล์ สมมติว่า ‘1 แผง มีขนาดเท่ากับ 120*60 เซนติเมตร มีพื้นที่เท่ากับ 0.72 ตร.ม. มีกำลังผลิตแผงละ 102 วัตต์’ ดังนั้นหากต้องการผลิตให้ได้ 1 กิโลวัตต์ ต้องใช้ 10 แผงในการติดตั้ง กินพื้นที่บนหลังคาเท่ากับ 7.2 ตร.ม.
  • จากนั้นมาดูปริมาณการใช้งานไฟฟ้าในแต่ละเดือนของเราว่าใช้เดือนละกี่หน่วย(KW-h) สมมติ ถ้าใช้เดือนละ 2,000 หน่วย (เสียค่าไฟฟ้าประมาณเดือน 10,000 บาท)
  • ให้จดเลขมิเตอร์ 2 ครั้งใน 1 วัน ในช่วงเช้าเวลาประมาณ 9.00 น. และเย็น 17.00 น. ทั้งหมด 4 วัน แล้วนำมาลบกันก็จะได้ค่าจำนวนหน่วยที่ใช้ในเวลากลางวัน จากนั้นนำหน่วยทั้งหมดที่ได้มาหาร 4 ยกตัวอย่างเช่น 55+40+50+45 = 190/4 เฉลี่ยแล้วใช้ไฟฟ้าในตอนกลางวันประมาณ 47.5 หน่วย
  • ใน 1 วันมีแสงอาทิตย์ประมาณ 5 ชม. เราก็ต้องนำ 47.5 หน่วย หาร 5 ได้เท่ากับ 9.5 กิโลวัตต์ ดังนั้นการติดตั้งโซลาร์เซลล์ประมาณ 10 กิโลวัตต์จึงจะเหมาะสมและคุ้มทุนที่สุด โดยจำนวนแผงที่จะติดตั้งต้องดูตามปริมาณวัตต์ต่อ 1 แผง

ทั้งหมดนี้จะยังไม่รวมกับค่าใช้จ่ายอุปกรณ์อื่นๆ ที่ต้องนำมาใช้ในการติดตั้งไม่ว่าจะเป็น สายไฟฟ้า / ท่อร้อยสาย / กริดไทร์อินเวอร์เตอร์ / AC Breaker / Combiner Box และอื่นๆ ซึ่งรวมแล้วจะประมาณ 300,000 บาท ขึ้นอยู่กับคุณภาพที่ใช้งาน ซึ่งจะคุ้มค่ากับการใช้งานหรือไม่ ทั้งนี้เราจะต้องลองไปคำนวณผลระยะยาว

อ้างอิงข้อมูลจาก : บ้านและสวน

             สำหรับใครที่กำลังอยากติดตั้ง Solar Cell อย่างไรลองนำสาระดี ๆ ที่ HomeTricks เคล็ดไม่ลับเรื่องบ้าน นำมาแนะนำในวันนี้ไปช่วยตัดสินใจได้ นอกจากนี้ยังมีอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับคนอยากเซฟค่าไฟ อย่าง ระบบโซล่าเซลล์ออนกริด ก็สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่ ทั้งนี้ไม่พลาดไอเดียแต่งบ้านและเทคนิคเกี่ยวกับบ้านอย่าลืมติดตาม HomeTricks เคล็ดไม่ลับเรื่องบ้าน

Tags
pimpaporn.n@dobaan.co

pimpaporn.n@dobaan.co

บทความยอดนิยม

บทความล่าสุด

บทความที่เกี่ยวข้อง

TOP