“ต่อเติมบ้าน” หลาย ๆ คนอาจเคยได้ยินเรื่องความเสียหายจากการต่อเติมบ้านกันมาบ้างแล้ว เช่น ทะเลากับเพื่อนบ้าน บ้างก็โดนปรับและต้องรื้อถอนเนื่องจากผิดกฎหมาย หรือ ต่อเติมผิดพลาดจนทำให้เกิดความเสียหายอื่น ๆ ตามมา สำหรับใครที่กำลังจะต่อเติมบ้านวันนี้ HomeTricks เคล็ดไม่ลับเรื่องบ้าน ก็จะมาแชร์ข้อควรรู้ ! ต่อเติมบ้านอย่างไรไม่ให้ผิดกฎหมาย เพื่อเป็นแนวทางให้กับทุกคน โดยข้อมูลนี้เราได้อ้างอิงจากกฎกระทรวง ฉบับที่ 55 (พ.ศ. 2543) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 และข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องควบคุมอาคาร พ.ศ. 2544 ในเรื่องของระยะร่น และข้อกำหนดเรื่องระยะห่างจากแนวเขตที่ดินของอาคารประเภทบ้านพักอาศัยมาแนะนำ ซึ่งจะมีอะไรบ้างเราไปดูกัน !
ต่อเติมบ้านแบบไหนได้บ้าง ?
- สามารถต่อเติมหน้าบ้านเพื่อทำหลังคากันสาด หรือ หลังคาที่จอดรถได้
- สามารถต่อเติมข้างบ้านเพื่อทำเป็นห้องอเนกประสงค์ได้
- สามารถต่อเติมหลังบ้าน เพื่อทำเป็นครัวไทยได้
- สามรถต่อเติมเพื่อปรับปรุงพื้นที่ภายในบ้านได้ เช่น กั้นห้องเพิ่ม หรือ ทุบผนังห้องออก เป็นต้น
โดยการต่อเติมแต่ละแบบนั้นจะมีข้อจำกัดหรือปัจจัยให้คำนึงอยู่ เช่น หากจะทำการต่อเติมบ้านเพิ่มเติมเพื่อไม่ให้กระทบโครงสร้างบ้านเราจำเป็นต้องทราบว่าโครงสร้างบ้านเดิมของเราเป็นอย่างไร หรือ หากต่อเติมบ้านนอกบ้านก็จะต้องคำนึงเรื่องกฎหมายด้วย
ต่อเติมบ้านอย่างไรไม่ผิดกฎหมาย ?
1.เหลือพื้นที่ว่างไม่น้อยกว่า 30 %
สำหรับการต่อเติมที่ไม่ผิดกฎหมาย คือ การต่อเติมที่เหลือพื้นที่ว่างไม่น้อยกว่า 30 % โดยหลังจากการต่อเติม จะต้องมีที่ว่างหรือพื้นที่ที่ไม่มีหลังคาปกคลุม อย่างน้อย 30% ของพื้นที่นั้น ๆ นั่นเอง
2.ต้องได้รับการยินยอมจากบ้านข้างเคียง
อีกหนึ่งการต่อเติมที่ไม่ผิดกฎหมาย คือ การต่อเติมที่ได้รับการยินยอมจากบ้านข้างเคียง ซึ่งหากมีการต่อเติมบ้านชิดเขตที่ดินของผู้อื่น ต้องมีหนังสือยืนยันว่า ได้รับการยินยอมจากเจ้าของที่ดินข้างเคียง ในกรณีที่เจ้าของที่ดินข้างเคียงไม่ยินยอมจะสามารถต่อเติมบ้านได้แต่ต้องทำเป็นผนังทึบ และเว้นระยะห่างจากเขตที่ดินอย่างน้อย 0.50 เมตร แต่หากมีการต่อเติมบ้านโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือต่อเติมบ้านผิดไปจากแบบแปลนที่ยื่นขอไว้ จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
3.ผนังที่มีช่องเปิดควรสร้างห่างจากรั้วอย่างน้อย 2 เมตร
ในการต่อเติมบ้านที่ถูกกฎหมาย แนะนำให้ผนังที่มีช่องเปิด เช่น ประตู หน้าต่าง หรือ ระเบียงของบ้านที่มีความสูงไม่เกิน 9 เมตร จะต้องอยู่ห่างจากเขตที่ดินข้างเคียงไม่น้อยกว่า 2 เมตร ส่วนอาคารที่มีความสูงเกิน 9 เมตร แต่น้อยกว่า 23 เมตร ผนังและระเบียงต้องอยู่ห่างจากเขตที่ดินข้างเคียงไม่น้อยกว่า 3 เมตร
การขออนุญาตต่อเติมบ้าน
สำหรับการต่อเติมบ้านที่มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างหรือส่วนต่าง ๆ ของอาคารที่สร้างไว้แล้วผิดไปจากเดิม ได้แก่ เพิ่ม เติม ลด ขยาย ลักษณะขอบเขต แบบ รูปทรง สัดส่วน น้ำหนัก ที่ไม่ใช่การซ่อมแซมหรือการดัดแปลงอาคารตามที่กฎหมายกำหนด ต้องทำหนังสือขออนุญาตและยื่นเอกสารให้กับเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นพิจารณาก่อนเสมอ
สำหรับการต่อเติม หรือ ดัดแปลงอาคาร ตามรายละเอียดต่อไปนี้ จำเป็นต้องได้รับการอนุญาตจากทางราชการ
- การขยายพื้นที่ชั้นหนึ่งขั้นใด ตั้งแต่ 5 ตร.ม.
- เปลี่ยนหลังคา หรือขยายหลังคาให้ปกคลุมเนื้อที่มากขึ้นกว่าเดิม
- เพิ่ม – ลด จำนวน หรือเปลี่ยนเสา คาน บันได และผนัง
อาคารจะต้องมีระยะถอยร่นจากแนวเขตที่ดิน ดังนี้
- สำหรับทาวน์เฮ้าส์และตึกแถว พื้นที่ว่างด้านหลังกว้าง 2 ม. จะต้องเว้นว่างไว้ เพื่อเป็นทางหนีไฟ
- ผนังด้านที่เปิดประตู หน้าต่าง ที่สูงไม่เกิน 9 ม. ต้องอยู่ห่างจากเขตที่ดินไม่น้อยกว่า 2.0 ม. สำหรับที่สูงเกิน 9.0 ม. ต้องห่าง 3.0 ม. ผนังที่ไม่มีช่องเปิดต้องห่างจากเขตที่ดินไม่น้อยกว่า 0.50 ม. ยกเว้นแต่ได้รับความยินยอมจากเจ้าของที่ดินข้างเคียง
จะเห็นได้ว่าตามกฎหมายนั้น ทาวน์เฮ้าส์และตึกแถวแทบจะไม่สามารถต่อเติมใด ๆ ได้ตามกฎหมาย ยกเว้นแต่มีพื้นที่เหลือด้านหลังมาก ๆ แต่อย่างไรก็ตามหากต้องการต่อเติมอย่างถูกต้องก็ต้องมีการยื่นขออนุญาตก่อสร้างด้วย แต่ที่เห็นว่ามีการก่อสร้างต่อเติมอยู่ทั่วไปก็เพราะทางราชการอนุโลมให้หากไม่มีปัญหาใด ๆ กับบ้านข้างเคียง
เอกสารในการขออนุญาตต่อเติมบ้าน
เอกสารที่ต้องเตรียมเพื่อใช้ยื่นขออนุญาตในการต่อเติมบ้าน หรือ ดัดแปลงอาคาร ซึ่งทุกฉบับจะต้องมีการ “รับรองสำเนาถูกต้อง” มีดังนี้
- คำขออนุญาต ปลูกสร้างอาคาร ดัดแปลงหรือรื้อถอนอาคาร 1 ชุด
- แบบแปลนบ้านจำนวน 5 ชุด แสดงลักษณะขอบเขตที่จะดัดแปลง
- สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้ที่ต้องการขอต่อเติม 1 ชุด
- สำเนาทะเบียนบ้านของผู้ที่ต้องการต่อเติมบ้าน 1 ชุด
- สำเนาโฉนดที่ดินขนาดเท่าตัวจริงทุกหน้า 1 ชุด
หากต้องการที่จะต่อเติมในส่วนใดส่วนหนึ่งที่ติดกับบ้านข้าง ๆ หรือ ที่ดินที่ติดกับบ้านฝั่งตรงกันข้าม จะต้องเตรียมเอกสารเพิ่มเติมดังนี้
- สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของเจ้าของที่ดินข้างเคียง 1 ชุด
- สำเนาทะเบียนบ้านของเจ้าของข้างเคียง 1 ชุด
- สำเนาโฉนดที่ดินขนาดเท่าฉบับจริงทุกหน้า 1 ชุด
- หนังสือยินยอมให้ปลูกสร้างอาคารชิดเขตที่ดิน 1 ชุด
ทั้งหมดนี้ก็เป็นข้อควรรู้ ! ต่อเติมบ้านอย่างไรไม่ให้ผิดกฎหมาย ที่ HomeTricks เคล็ดไม่ลับเรื่องบ้าน นำมาแชร์ให้ทุกคน สำหรับใครที่มีแพลนกำลังจะต่อเติมบ้าน แนะนำให้ศึกษารายละเอียดและดำเนินการตามขั้นตอนและต่อเติมบ้านตามกฎหมาย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหากับเพื่อนบ้าน หรือ โดนรื้อถอนในภายหลัง ทั้งนี้หากใครที่ต้องการหาไอเดียต่อเติมบ้านเพิ่มเติม เช่น ไอเดียต่อเติมหลังบ้าน ก็สามารถอ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่นี่ และถ้าหากอยากหาไอเดียแต่งบ้าน หรือ เคล็ดลับเรื่องบ้าน อย่างไรนั้นก็อย่าลืมติดตามไอเดียแต่งบ้านและเทคนิคเกี่ยวกับบ้านได้ HomeTricks เคล็ดไม่ลับเรื่องบ้าน