ทำความรู้จักกับ ฉนวนกันความร้อน
  • Tips & Tricks
  • /
  • ทำความรู้จักกับฉนวนกันความร้อน ตัวช่วยเปลี่ยนบ้านร้อนเป็นบ้านเย็นต้อนรับซัมเมอร์ !
แชร์บทความ

ทำความรู้จักกับฉนวนกันความร้อน ตัวช่วยเปลี่ยนบ้านร้อนเป็นบ้านเย็นต้อนรับซัมเมอร์ !

          ใกล้เข้าหน้าร้อนเข้ามาทุกทีและดูเหมือนว่าอุณหภูมิในฤดูร้อนของบ้านเราจะพุ่งสูงขึ้นในทุก ๆ ปี จึงทำให้หลายคนมองหาวิธีที่จะช่วยทำให้บ้านเย็นได้ ซึ่งอีกหนึ่งวิธีที่จะช่วยให้บ้านของเราเย็นขึ้นได้นั้น คือ การติดตั้ง ฉนวนกันความร้อน โดยสามารถทำได้ทั้งบ้านเก่าและบ้านใหม่ ในวันนี้ HomeTricks เคล็ดไม่ลับเรื่องบ้าน จะพาทุกคนมาทำความรู้จักกับฉนวนกันความร้อน ประเภท และคุณสมบัติของแต่ละชนิด ก่อนเลือกใช้งานให้เหมาะสมกับบ้านของคุณมาแนะนำ ดังนี้

ฉนวนกันความร้อน คือ อะไร ?

          ฉนวนกันความร้อน คือ วัสดุที่สามารถป้องกันความร้อนไม่ให้ส่งจากด้านหนึ่งผ่านไปยังส่วนอื่น ๆ โดยมักจะติดตั้งไว้ใต้หลังคา ฝ้า หรือ ในผนัง มีลักษณะเบา ประกอบด้วยฟองอากาศเล็ก ๆ จำนวนมากซึ่งมีคุณสมบัติสกัดกั้นความร้อนให้อยู่ในฟองอากาศ จึงทำให้ไม่นำพาความร้อนไปยังส่วนอื่น ๆ ช่วยลดความร้อนใต้หลังคาหรือต้านทานความร้อนให้เหลือน้อยที่สุดก่อนเข้าสู่ตัวบ้าน นอกจากนี้ยังมีแผ่นฉนวนกันความร้อนอีกชนิดหนึ่งที่เรียกว่า แผ่นสะท้อนความร้อน ซึ่งใช้วิธีป้องกันความร้อนที่แตกต่างกัน โดยเน้นการสะท้อนคลื่นความร้อนออกจากตัวบ้านเป็นหลัก

 

ประเภทของบานฉนวนกันความร้อน

ประเภทของฉนวนกันความร้อนจะแบ่งออกเป็น 6 ประเภท ดังนี้ 

1.อะลูมิเนียมฟอยล์ (Aluminium Foil)

ฉนวนกันความร้อน อะลูมิเนียมฟอยล์ (Aluminium Foil)

อะลูมิเนียมฟอยล์ (Aluminium Foil) เป็นแผ่นเคลือบอะลูมิเนียมที่ถูกทำให้หนาขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความร้อนและรังสียูวี มีความเหนียวคงทนไม่ขาดง่าย นิยมใช้คู่กับอะลูมิเนียมฟอยล์เทปในการติดตั้ง มีราคาที่ประหยัด โดยราคาเริ่มต้น ม้วนละ 1,000 บาท ตามขนาดและคุณสมบัติ

2.โฟมโพลียูริเทน (Polyurethane)

ฉนวนกันความร้อน โฟมโพลียูริเทน (Polyurethane)

โฟมโพลียูริเทน (Polyurethane) หรือเรียกว่า โฟม PU เป็นวัสดุที่ป้องกันการรั่วซึมของความร้อน-เย็น นอกจากนี้ยังมีคุณสมบัติที่ลดเสียงดังได้ดีอีกด้วย โดยโครงสร้างของโฟม PU จะเป็นเซลล์ปิด( Closed Cell) มีช่องอากาศเป็นโพรง ที่เรียกว่า Air Gap เป็นจำนวนมาก นิยมติดตั้งโดยวิธีฉีดพ่นไปยังวัตถุ เช่น ไม้ โลหะ อิฐ คอนกรีต แก้ว พลาสติก กระดาษ กระเบื้อง หรือ ยิปซั่ม เป็นต้น เหมาะสำหรับใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมที่มีปัญหาเรื่องระบายความร้อน

ข้อดี :

• สามารถลดการแผ่รังสีจากแสงแดดที่ผ่านทางหลังคาได้มากกว่า 90%
• สามารถป้องกันเสียงรบกวน กันซึม กันรั่ว กันร้าว กันความชื้น และกันสนิมได้เป็นอย่างดี
• ใช้ได้ดีกับหลังคาทุกประเภท เช่นกระเบื้อง สังกะสี อลูมิเนียม คอนกรีต เหล็ก
งานอุตสาหกรรมห้องเย็น และเครื่องปรับอากาศ
• สามารถหุ้มผนังห้องเย็นได้ทุกด้าน เพื่อกันการสูญเสียความเย็นจากผนังห้องเย็น
• สามารถกำหนดความหนาของเนื้อโฟมได้ตามต้องการ ทำให้สามารถลดความร้อนได้มาก

ข้อเสีย :
• มีจุดหลอมเหลวต่ำ หากโดนอุณหภูมิร้อนจัดอาจทำให้เปลี่ยนสภาพได้
• หากช่างพ่นฉีดพ่นไม่ดีอาจทำให้ฉนวนฟุ้งกระจายเลอะเทอะได้

3.ฉนวนใยแก้ว (Microfiber)

ฉนวนกันความร้อน ใยแก้ว

ฉนวนใยแก้ว (Microfiber) คือ ฉนวนกันความร้อนที่ผลิตมาจากใยแก้วขนาดเล็กที่มีความละเอียดอ่อน ผสมผสานเป็นเนื้อเดียวด้วยกาวชนิดพิเศษ ประกอบด้วยเส้นใยไฟเบอร์เล็ก ๆ มีประสิทธิภาพทนความร้อนสูง จึงสามารถช่วยลดปริมาณความร้อนที่จะผ่านเข้าสู่ตัวอาคารได้ดี นอกจากนี้ยังมีคุณสมบัติกันเสียงรบกวนได้ รวมถึงป้องกันความชื้นได้ มีน้ำหนักเบา ทนทาน มีความหยืดหยุ่นสูง และป้องกันแมลงหรือเชื้อราได้ ราคาเริ่มต้นตั้งแต่ ม้วนละ 1,500 บาทขึ้นไป ตามขนาดและคุณสมบัติ

4.ฉนวนใยหิน (Rock Wool)

ฉนวนกันความร้อน ฉนวนใยหิน

ฉนวนใยหิน (Rock wool) คือ เส้นใยสังเคราะห์ที่ผลิตจากการนำหินบะซอลต์ และโดโลไมท์ มาหลอมเหลวด้วยอุณหภูมิที่สูงมากแล้วนำมาปั่นให้เป็นเส้นใย มีคุณสมบัติไม่ติดไฟ ดูดซับเสียงได้เป็นอย่างดี ไม่ดูดซับน้ำจึงทำให้ไม่ขึ้นราและยากต่อการผุพัง ใช้สำหรับการติดตั้งใต้หลังคาบ้านที่พักอาศัย หรือ อาคารสำนักงาน เป็นต้น ราคาโดยประมาณ 1400 บาทขึ้นไปต่อม้วน

5.ฉนวนใยเซลลูโลส (Cellulose)

ฉนวนกันความร้อน ฉนวนใยเซลลูโลส (Cellulose)

ฉนวนใยเซลลูโลส (Cellulose) เป็นฉนวนกันความร้อนที่ผลิตจากการนำไม้ หรือ กระดาษที่ใช้แล้ว นำกลับมาใช้ใหม่อีกครั้ง โดยการแผ่และดึงให้กระจายออก ทำการย่อยจนละเอียด จากนั้นทำการประสานเข้าด้วยกันกับบอแรกซ์ ส่วนผสมทั้งสองนี้จะช่วยให้มีสภาพต้านทานการลุกไหม้ และการดูดซับความชื้น การใช้งานอาจใช้การเทบรรจุเข้าไปในช่องผนัง หรือใช้เป็นฉนวนแผ่นบนเพดาน ของอาคาร หรือแบบฉีดพ่น ใต้หลังคาและดาดฟ้า  นอกจากนี้ด้วยโครงสร้างที่ถูกออกแบบเป็นรูพรุนลักษณะคล้ายผ้าห่ม หรือรังไข่จึงทำให้ฉนวนใยเซลลูโลสมีคุณสมบัติที่ช่วยป้องกันเสียงได้ดีอีกด้วย

ข้อจำกัดของฉนวนใยเซลลูโลส
1.การควบคุมความหนาแน่นไม่ได้มาตรฐานตามกำหนด ทำให้ฉนวนยุบตัวลงทีละน้อยทั้งจากอุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลง การสั่นสะเทือน หรือความชื้น ทำให้การนำความร้อนลดลง
2. เป็นเส้นใยจากธรรมชาติ จึงสามารถติดไฟได้ และอาจจะลุกลามได้ไว ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับปริมาณการใส่สารไม่ลามไฟ
3.ฉนวนใยเซลลูโลสมีโอกาสหลุดล่วงได้ อีกทั้งยังไม่ทนน้ำและความชื้น

6.ฉนวนกันความร้อนโฟมโพลีเอทิลีน (Polyethylene Foam-PE)

ฉนวนกันความร้อน ฉนวนกันความร้อนโฟมโพลีเอทิลีน (Polyethylene Foam-PE)

ฉนวนกันความร้อนโฟมโพลีเอทิลีน (Polyethylene Foam-PE) ฉนวนโฟม PE มีลักษณะเป็นแผ่นโฟมที่มีอะลูมิเนียมฟอยล์ 1 หรือ 2 ด้าน ประกบแต่ละชั้นให้ติดกันด้วยกาว โฟม PE ทำหน้าที่ป้องกันความร้อน ส่วนอะลูมิเนียมฟอยล์ทำหน้าที่สะท้อนความร้อน ฉนวนโฟม PE จึงสามารถป้องกันความร้อนพร้อมกับช่วยสะท้อนความร้อนในตัว

 

          ทำความรู้จักกับฉนวนกันความร้อนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สำหรับใครที่มีกำลังมองหาวิธีที่จะช่วยให้บ้านเย็นขึ้น อย่างไรลองนำวิธีติดตั้งฉนวนกันความร้อนไปเป็นทางเลือกได้ เพียงเลือกให้เหมาะสมกับการใช้งาน ทั้งนี้หากอยากได้วิธีแก้ไข ปัญหาเรื่องบ้าน สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่ อย่างไรนั้นก็อย่าลืมติดตามไอเดียแต่งบ้านและเทคนิคเกี่ยวกับบ้านได้ที่ HomeTricks เคล็ดไม่ลับเรื่องบ้าน

 

Tags
pimpaporn.n@dobaan.co

pimpaporn.n@dobaan.co

บทความยอดนิยม

บทความล่าสุด

บทความที่เกี่ยวข้อง

TOP